ธปท.เดินหน้าปลดล็อกธนาคารลงทุนในฟินเทค หลังลิมิตไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน หวังแบงก์ยกระดับนวัตกรรม พร้อมศึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีประโยชน์ต่อระบบ
วันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2565 ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เป้าหมายของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภูมิทัศน์การเงิน (consultation paper) ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มองว่า เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วและแรงกว่าที่คาด จากเดิมโลกเปลี่ยนช้า และปัจจัยกระทบนานๆ จะมาที แต่ระยะหลังโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว
โดย ธปท.อยากเห็นภาคการเงินมีการเรียนรู้และการพัฒนา ซึ่งในฐานะผู้กำกับจะต้องยืดหยุ่นตามระดับความเสี่ยงที่ความเป็น โดยหากมีความเสี่ยงมากก็คุมเข้มมาก เสี่ยงน้อยก็ปล่อยมากขึ้น และอะไรที่เป็นของใหม่ที่ยังไม่รู้ อาจจะต้องมีกติการ่วมกัน หรือการทดสอบในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (sandbox) ที่ต้องมาดูร่วมกัน
ตัวอย่างเช่น การลงทุนในด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) จากเดิมที่มีความกังวลในเรื่องของความเสี่ยงจากการลงทุนของธนาคาร ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ฝากเงินได้ จึงกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำการลงทุนไว้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน แต่ภายหลังพบว่าฟินเทคได้เข้ามาช่วยพัฒนาเรื่องการให้บริการ เช่น ยืนยันตัวตน (e-KYC) เป็นต้น ธปท.จึงมีการทบทวนยกเลิกเพดานดังกล่าว เพื่อยกระดับการพัฒนานวัตกรรม อย่างไรก็ดี การจะลงทุนในฟินเทคอาจจะต้องดูเทคโนโลยีด้วย รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นในรูปแบบโครงสร้างกลุ่มธุรกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในภาคการเงินโดยไม่กระทบผู้ฝากเงินและมีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม
ขณะเดียวกัน ในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ธปท.มีความกังวล ซึ่งเป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ ธปท.ยังไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงขนาดไหน แต่เบื้องต้นรู้ว่ามีความผันผวนด้านราคาและความเสี่ยงด้านไซเบอร์ จึงไม่ได้สนับสนุนให้ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ
อย่างไรก็ตาม สำหรับบริการและระบบเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินและต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน ธปท.จะพิจารณาแนวทางการกำกับที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการและป้องกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบชำระเงินต่อไป
“สิ่งที่ ธปท.อยากเห็น คือ อยากให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการ ปรับตัวได้ แม้เดินช้า หรือเซ แต่ลุกขึ้นเร็ว ดีกว่าเข้มแข็งมาก แต่เวลาล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ธปท.เองฐานะผู้กำกับต้องยืดหยุ่นขึ้น เหมือนเวลาเรามีลูก เราจะต้องมีสายจูงตามระยะใกล้ไกลตามความเสี่ยง เพื่อรับแรงกระแทกและเพื่อให้สามารถเดินหน้าไปต่อได้”
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance