โควิด 2 ปีดันงบฯค่ารักษาข้าราชการพุ่ง จ่อทะลุ 8 หมื่นล้าน

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

“โควิด 2 ปี-สังคมสูงวัย” ปัจจัยดันค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพุ่ง เผยปีงบประมาณ 2564 เบิกจ่ายภาพรวม 8 หมื่นล้านบาท อธิบดีกรมบัญชีกลางเตรียมถกทีมงานหาทางคุมค่าใช้จ่าย เผยเพิ่งปรับเกณฑ์เบิกจ่ายค่ารักษาโควิดให้สอดคล้องต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงต้นปีที่ผ่านมา

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมารายจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้น สูงกว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรรเกือบทุกปี โดยปีงบประมาณ 2561 ได้รับจัดสรร 63,000 ล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายจริงกว่า 74,279 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2562 ได้รับจัดสรร 70,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริงกว่า 74,817 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2563 ได้รับจัดสรร 71,200 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริงกว่า 76,002 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 ได้รับจัดสรร 85,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริงกว่า 79,672 ล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่สังคมสูงวัย ค่ารักษาพยาบาลก็มากขึ้นตามลำลับ นอกจากนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามา จึงเป็นส่วนทำให้จ่ายค่าพยาบาลเพิ่มขึ้นรวมกว่า 3,600 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลจากโควิดในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 800 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2564 อีกกว่า 2,800 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมยังได้ปรับในเรื่องยารักษาโรคให้ครอบคลุม เช่น ผู้ที่รักษาพยาบาลด้วยยาบางชนิด ที่จำเป็นต้องใช้ยาแพงขึ้น จึงจะสามารถรักษาอาการให้หายได้ กรมก็ปรับปรุงตัวบ่งชี้ส่วนนั้น ให้สามารถใช้ยาดังกล่าวได้ ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ใช้งบประมาณในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นด้วย

“กรมมีนโยบายว่า หากข้าราชการตรวจเจอโควิด ก็ต้องจ่ายค่ารักษาให้ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลในส่วนโรงพยาบาลเอกชนด้วย ส่วนกรณีรักษาตัวที่บ้าน ก็ให้ค่าใช้จ่าย โดยกรมก็จะพยายามบริหารการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ดี ภาพรวมแนวโน้มตัวเลขผลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ ก็จะมีการเรียกทีมงานที่ดูแลมาหารือร่วมกัน ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง” นางสาวกุลยากล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราจ่ายค่าบริการดูแลข้าราชการป่วยโรคโควิด เพื่อให้สอดคล้องกับบริการและต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา โดยได้ปรับปรุงรายละเอียด ได้แก่

1.การตรวจยืนยันการติดเชื้อ ด้วยวิธี real time PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ ประเภท 2 ยีน ให้เบิกได้ตามจริงไม่เกิน 1,300 บาท จากเดิม 1,500 บาท กรณีประเภท 3 ยีน ให้เบิกได้ไม่เกิน 1,500 บาท จากเดิม 1,700 บาท ส่วนวิธี antigen test ด้วยเทคนิค chromatography ให้เบิกได้ไม่เกิน 300 บาท จากเดิม 450 บาท และ วิธี antigen test ด้วยเทคนิค fluorescent immunoassay (FIA) ให้เบิกได้ไม่เกิน 400 บาท จากเดิม 500 บาท และ วิธีอื่น ๆ ให้เบิกได้ไม่เกิน 400 บาท จากเดิม 550 บาท

2.ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล กรณีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ให้เบิกได้ตามจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวัน และไม่เกิน 10 วัน อาการปานกลาง (สีเหลือง) ให้เบิกได้ไม่เกิน 600 บาทต่อชุด และไม่เกิน 5 ชุดต่อวัน ส่วนอาการรุนแรง (สีแดง) กรณีใช้ oxygen high flow ให้เบิกได้ไม่เกิน 600 บาทต่อชุด ไม่เกิน 15 ชุดต่อวัน และกรณีใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้เบิกได้ไม่เกิน 600 บาทต่อชุด ไม่เกิน 30 ชุดต่อวัน

3.ค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษาผู้ป่วยสีเขียว ในสถานพยาบาลของทางราชการ หรือสถานที่ที่จัดหาไว้เป็นการเฉพาะให้เบิกได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน จากเดิม 1,500 บาทต่อวัน ทั้งนี้ ไม่เกิน 10 วัน

4.ค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะ และค่าชุดป้องกันส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ ให้เบิกได้ไม่เกิน 1,400 บาท จากเดิม 3,700 บาทต่อครั้งที่มีการส่งต่อหรือรับตัวผู้ป่วยแล้วแต่กรณี

และ 5.การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีรักษาที่บ้าน (home isolation) หรือ สถานที่อื่น ๆ (community isolation) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงวันละไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งนี้ไม่เกิน 10 วัน จากเดิมไม่เกิน 14 วัน ส่วนค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการติดตามอาการผู้ป่วย home isolation ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,100 บาท ด้านค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการติดตามอาการผู้ป่วยซึ่งได้รับการรักษาพยาบาลในสถานที่อื่น ๆ (community isolation) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาทต่อราย

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance